อยากให้ “มาม่า” ไปได้ทุกที่ ร้าน ‘MAMA STATION’ ทลายข้อจำกัดบะหมี่ฯเบอร์ 1 โต!

ธุรกิจบริการมีอะไรบ้าง

เมื่อเชื่อว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” จะไปได้ทุกที่ ภารกิจการทลายข้อจำกัดการเติบโตจึงเห็นต่อเนื่อง

ร้าน MAMA STATION อาจเป็นจิ๊กซอว์เสิร์ฟความอร่อย แต่มากกว่านั้นคือต่อยอดแบรนด์แกร่ง ให้ครองใจผู้บริโภคอีก 50-100 ปี

ปลายปี 2565 ร้านอาหาร MAMA STATION..อร่อย สาขาแรกเปิดให้บริการที่โครงการ HappyHub ซึ่งเป็นคอร์ทแบดมินตัน ที่สุคนธสวัสดิ์ ภายในร้านมีเมนูหลากหลาย ที่เสิร์ฟความอร่อยให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

ล่าสุด สาขา 3 เปิดให้บริการหมาดๆที่ย่านเพชรเกษมภายใต้ชื่อ MAMA STATION ซึ่งนอกจากการตกแต่งร้านจะมีความอลังการงานสร้างแล้ว “เมนู” ความอร่อย ยังถูกรังสรรค์ให้หลากหลาย และจัดเต็มด้วย

ส่วนสาขา 2 เปิดให้บริการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งมีขนาดย่อมกว่า 2 ร้านที่กล่าวข้างต้น

ธุรกิจบริการมีอะไรบ้าง

ท่ามกลางการไฟเขียวให้ “พันธมิตร” นำแบรนด์ “มาม่า” ไปต่อยอดได้ โมเดลร้านที่เป็น “ต้นแบบ” ที่มาพร้อม “คัมภีร์” ค้าขายจะเห็นเมื่อไหร่ กรุงเทพธุริจ ชวนคุยกับ พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)หรือ TFMAMA ซึ่งหยิบยกร้านอาหาร “มาม่า” ที่เป็นต้นแบบ ได้จับมือกับพันธมิตรชิมลางเปิดร้านในงานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 26 มาแล้ว

ขณะที่การเปิดร้าน MAMA STATION ทั้ง 3 สาขา เป็นโมเดลที่เปิดโอกาสให้พันธมิตรที่มีความสนใจ รักแบรนด์ ยึดมั่นในคุณภาพของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” นำไปขยายต่อได้

ทว่า การเปิดร้านจะต้องอยู่ภายใต้ “กฏกติกา” 3 ข้อ ได้แก่

1.รักษาแบรนด์ “มาม่า” ให้กับบริษัท

2.บริษัทอนุญาตให้ใช้แบรนด์ แต่การนำแบรนด์ไปขยายต่อ เปิดร้านเพิ่มต้องมีการหารือกันก่อนดำเนินการ

3.การรักษาความสะอาดของร้าน คุณภาพอาหาร อาหารปลอดภัย และความอร่อยอย่างต่อเนื่อง

“เชื่อว่าร้าน MAMA STATION มีความสร้างสรรค์เมนู ทำให้มาม่าอร่อยยิ่งขึ้น และน่าสนใจกว่าเดิมอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญสุดคือความสะอาด รักษาคุณภาพ”

ไทยเพรซิเดนท์ เป็นยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตบะหมี่ฯ “มาม่า” ยืนหนึ่งมากว่า 50 ปี การที่บริษัทยังลุยเปิดร้านเองเชิงรุก พันธ์ ให้เหตุผลว่า วิถีของ “สตาร์ทอัพ” ในการสวมบทเป็นผู้ประกอบการร้าน MAMA STATION ถือเป็น Passion ของคนรุ่นใหม่ ต้องการทำในสิ่งที่บริษัทอยากทำ แต่ยังไม่ถนัด 100% เพราะสิ่งที่บริษัทถนัดเป็นงานวิจัยและพัฒนาสินค้าในห้องปฏิบัติการ(แล็บ) ผลิตสินค้าจากโรงงานเสิร์ฟผู้บริโภคในวงกว้าง ดังนั้น จึงเปิดกว้างให้ผู้สนใจช่วยต่อจิ๊กซอว์ได้

“เราให้คนมีไอเดีย ความครีเอทีฟ ทำและต่อยอดดีกว่า อย่างร้าน MAMA STATION เพชรเกษม เมนูอาหารมีความอลังการมาก และทุกร้านมีการหารือกันเพื่อปรับโมเดลร้านตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่บริษัทจะไม่ศึกษาโมเดลร้านอาหาร “มาม่า” เพื่อขยายแฟรนไชส์ แต่การตั้งโจทย์บริษัทนั้น ต้องการให้มีโมเดล คัมภีร์สอนที่ทำให้พันธมิตร หรือแฟรนไชส์ที่นำร้านไปเปิด “ไม่เจ๊ง!” เพราะการขยายธุรกิจ การลงทุนจะต้องมี “กำไร”

“อยากให้มีโมเดลที่ใช่ก่อน” สำหรับการเปิดร้าน MAMA STATION สาขาแรกที่คอร์ทแบด สาขา 2 มหาวิทยาลัย สาขา 3 ย่านที่อยู่อาศัย คอมมูนิตี้มอลล์ ส่วนสาขา 4 จะเปิดเร็วๆนี้ ย่านพัฒนาการ ใกล้สถานศึกษา โรงเรียน ถือเป็นการ “ลองผิดลองถูก” ในการเลือก “ทำเลที่ใช่” และกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันด้วย ทั้งหมดอาจปรับเป็นโมเดลต้นแบบหรือมาสเตอร์ แฟรนไชส์ 70% อีก 30% เปิดกว้างการสร้างสรรค์ร้านได้

“มาม่า” กลายเป็นชื่อสามัญของบะหมี่ฯ และครองบัลลังก์เบอร์ 1 ยาวนาน บริษัทสร้างยอดขายหลัก “หมื่นล้านบาท” จากบะหมี่ฯ ทั้งกลุ่มยอดขายรวมราว 30,000 ล้านบาท วิสัยทัศน์ของทายาท “พะเนียงเวทย์” ไม่เพียงสร้างการเติบโตด้าน “ยอดขาย-กำไร” แต่แบรนด์ต้องแกร่ง และไม่เลือนหายไปจากผู้บริโภคด้วย

การเปิดร้านอาหาร ยอดขายไม่มาก แต่อีกมิติตอบโจทย์สร้างการรับรู้แบรนด์(Brand Awareness)อย่างต่อเนื่อง อย่างร้าน MAMA STATION ทั้งรูปแบบร้านและเมนูอาหาร สะท้อนศักยภาพ “มาม่า” ทำได้มากกว่าการเป็นบะหมี่ฯ ในซองหรือคัพ เห็นแล้วกระตุ้นความหิวให้กลับไปทานที่บ้านเพิ่มเติม เป็นต้น